การวินิจฉัยการนอนไม่หลับด้วยตนเอง สามารถทำได้โดยสังเกตและบันทึกพฤติกรรมการนอนในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ เช่น นอนยากหรือไม่ ต้องใช้เวลานานเกินกว่า 30 นาทีเพื่อนอนให้หลับ หรือตื่นขึ้นกลางดึกแล้วไม่สามารถกลับไปนอนหลับได้อีก มีสภาพแวดล้อมที่รบกวนในขณะนอนหรือไม่ มีเรื่องให้คิดรบกวนจิตใจหรือไม่ และมีอาการอ่อนเพลียเหนื่อยล้ามากผิดปกติในเวลากลางวันหรือไม่
การวินิจฉัยโดยแพทย์ แพทย์จะซักถามประวัติการนอนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา หาสาเหตุทางด้านร่างกาย เช่น มีโรคประจำตัว หรือมีการเจ็บป่วยอื่นด้วยหรือไม่ นอนกรนหรือไม่ และหาสาเหตุทางด้านจิตใจ เช่น มีความเครียด อยู่ในภาวะซึมเศร้า หรือมีความวิตกกังวลใดอยู่หรือไม่ เพื่อหาแนวทางการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป
การรักษาโรคนอนไม่หลับ
การรักษาด้วยตนเอง เข้านอนและตื่นนอนตามเวลาเดิมเป็นประจำ นอนหลับให้เพียงพอตามกับความต้องการตามวัยของตน หลีกเลี่ยงการหมกมุ่นอยู่กับความคิดฟุ้งซ่าน ความเครียดและความวิตกกังวล ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายก่อนเข้านอน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดเว้นเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อย่างชา กาแฟ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติด
การรับการรักษาทางการแพทย์ ประกอบด้วยการวัดระดับความรุนแรงของอาการด้วยเครื่องมือและแบบทดสอบทางการแพทย์ การให้คำปรึกษา การบำบัดด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อให้เกิดภาวะผ่อนคลาย เช่น ดนตรีบำบัด วารีบำบัด การบำบัดแบบปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy)
การรักษาด้วยยา โดยยาบางชนิดต้องใช้ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์และสั่งยาโดยแพทย์เท่านั้น ยาที่ใช้จะอยู่ในกลุ่มยาเมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งเป็นยาที่ใช้เพื่อเพิ่มระดับฮอร์โมนเมลาโทนิน มักใช้เมื่อเกิดปัญหาการปรับตัวไม่ทันเมื่อข้ามเขตเวลาโลก (Jet Lag) Antidepressants หรือยาต้านเศร้า และ Antipsychotics หรือยารักษาอาการทางจิต ช่วยผ่อนคลายและลดอาการวิตกกังวล ทำให้นอนหลับง่ายและหลับสนิท โดยจะใช้เมื่อมีข้อบ่งชี้ของภาวะซึมเศร้าหรืออาการทางจิตที่เกิดขึ้นร่วมกับการนอนไม่หลับเท่านั้น Benzodiazepines หรือยานอนหลับที่มีฤทธิ์ช่วยคลายเครียด คลายกล้ามเนื้อ ช่วยให้นอนหลับลึกและยาวนาน